ย้ายประเทศ : ขอสัญชาติโดยไม่พึ่งการสมรสกับคนชาตินั้น ทำอย่างไร
บีบีซีไทยรวบรวมเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่จำเป็นในการที่คนไทยคนหนึ่งต้องมี ในการขอสัญชาติของหลายประเทศ โดยเจาะจงคนที่ต้องการไปทำงานและใช้ชีวิตที่นั่น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการแต่งงานกับคนชาตินั้น หรือขอสัญชาติด้วยเงื่อนไขด้านการลงทุน
สหราชอาณาจักร
กว่าที่หนอนตัวหนึ่งจะกลายเป็นผีเสื้อออกมาโบยบินได้อย่างเสรีนั้น ต้องผ่านระยะการเป็นดักแด้มาก่อน ไม่ต่างจากคนที่ได้วีซ่าเข้ามาทำงานในต่างประเทศ กว่าที่จะสามารถขอสัญชาติประเทศนั้นได้ ก็ต้องผ่านขั้นตอนสำคัญก่อนหน้านั้นเช่นกัน
ในสหราชอาณาจักรขั้นตอนสำคัญนั้นคือ การได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรได้ โดยไม่จำกัดระยะเวลา หรือที่คนทั่วไปอาจจะเรียกว่า วีซ่าถาวร แต่ในสหราชอาณาจักรเรียกการอนุญาตเช่นนี้ว่า indefinite leave to remain (ILR) โดยหลังจากได้รับ ILR นาน 12 เดือน จึงจะสมัครขอสัญชาติอังกฤษได้
แต่การจะได้ ILR นั้น บุคคลนั้นต้องอาศัยและทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักรมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่าทำงานที่ได้รับ ผู้ที่ได้วีซ่าทำงานประเภทแรงงานทักษะทั่วไป ต้องทำงานและอยู่อาศัยนาน 5 ปี จึงจะสมัครขอ ILR ได้ แต่สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าทำงานประเภทผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือ ความสามารถพิเศษ ทำงานเพียง 2-3 ปี ก็สามารถสมัครขอ ILR ได้แล้ว
ในการสมัครขอ ILR มีการกำหนดเงื่อนไขไว้หลายอย่าง ในกรณีนี้จะยกมาเฉพาะวีซ่าแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ ดังนี้
- ต้องใช้ชีวิตและทำงานในสหราชอาณาจักรมาแล้ว 5 ปี โดยในแต่ละช่วง 12 เดือนระหว่าง 5 ปีนั้น ไม่มีช่วงใดที่ออกนอกสหราชอาณาจักรนานเกิน 180 วัน
- เงินเดือนขั้นต่ำผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยเป็นรายอาชีพ โดยส่วนใหญ่ปัจจุบันจะอยู่ที่ 25,600 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1,140,000 บาท) หรือ 10.10 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 450 บาท)
- งานที่คุณทำยังเป็นที่ต้องการอยู่ โดยจะต้องมีเอกสารยืนยันจากนายจ้าง
นอกจากนี้หากคุณอายุ 18-64 ปี คุณจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสหราชอาณาจักรที่เรียกว่า Life in the UK และมีทักษะภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
การสอบ Life in the UK คืออะไร
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 มีพระชายากี่พระองค์, สิทธิที่จะได้รับจากการเป็นพลเมืองอังกฤษมีอะไรบ้าง, สงครามดอกกุหลาบเริ่มขึ้นในปีไหน, พระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต มาจากประเทศไหนในสมัยปัจจุบัน ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างของคำถามที่คุณอาจจะเจอในข้อสอบ Life in the UK ซึ่งเป็นการวัดว่าคุณมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความรู้รอบตัวในสหราชอาณาจักรดีแค่ไหน
คุณสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตัวอย่างข้อสอบ เพื่อฝึกทำข้อสอบ และอาจจะซื้อหนังสือคู่มือที่ใช้ในการออกข้อสอบนี้มาอ่านประกอบก็จะมีส่วนช่วยให้การเตรียมตัวดีขึ้น โดยในหนังสือที่มีความหนาราว 180 หน้านี้ มีเนื้อหาที่หลากหลายครอบคลุมทั้งกระบวนการเป็นพลเมืองอังกฤษ หรือผู้พำนักอาศัยถาวร, คุณค่าและหลักการของสหราชอาณาจักร, ประเพณีและวัฒนธรรมจากที่ต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักร, เหตุการณ์และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์, รัฐบาลและกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
ข้อสอบเป็นแบบตัวเลือกมีทั้งหมด 24 ข้อ มีเวลาทำ 45 นาที ผลสอบรู้ทันทีหลังสอบเสร็จ โดยต้องตอบถูก 18 ข้อ หรือคิดเป็น 75% จึงจะผ่าน หากไม่ผ่านสามารถสมัครสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ต้องเว้นช่วงนาน 7 วัน และเสียค่าสมัครสอบครั้งละ 50 ปอนด์ (ประมาณ 2,200 บาท)
เมื่อคุณได้สถานะ ILR มาแล้วนาน 12 เดือน จึงจะสามารถยื่นสมัครขอสัญชาติอังกฤษได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะไว้ ซึ่งเงื่อนไขบางข้อก็กำหนดไว้แล้วในการสมัครขอ ILR แล้ว ดังนี้
- มีอายุมากกว่า 18 ปี
- พิสูจน์ได้ว่าใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักรมาแล้ว 5 ปี ก่อนยื่นสมัคร (เมื่อนับรวมกับเงื่อนไขในการขอ ILR เท่ากับว่า คุณจะต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักรมาแล้วอย่างน้อย 6 ปี) แต่ในช่วงเวลา 5 ปีก่อนการสมัครขอสัญชาตินั้น มีการกำหนดรายละเอียดไว้ด้วยว่า ต้องไม่อยู่นอกสหราชอาณาจักรมากกว่า 450 วัน และในช่วง 12 เดือนก่อนการสมัครต้องอยู่นอกสหราชอาณาจักรไม่เกิน 90 วัน และไม่เคยละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของสหราชอาณาจักร
- มีความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเวลช์ หรือภาษาเกลิกสกอต
- ผ่านการทดสอบ Life in the UK
- มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปในสหราชอาณาจักร
- มีศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน
ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ระบุมาข้างต้นเกิดขึ้นหลังจากที่คุณได้วีซ่าประเภทแรงงานมีทักษะเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักรแล้วครบตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ซึ่งการได้วีซ่าทำงานเปรียบเสมือนใบเบิกทางที่สำคัญและอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะได้มา
ในกรณีที่คุณอยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรโดยไม่มีวีซ่าแรงงานมีทักษะ หรือถือวีซ่าผู้ติดตามของแรงงานมีทักษะ คุณต้องอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายนานติดต่อกัน 10 ปี คุณจึงจะสามารถสมัครขอ ILR ได้
ปัจจุบัน การขอสัญชาติอังกฤษนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 1,330 ปอนด์ (ประมาณ 59,000 บาท) และชำระค่าเก็บข้อมูลชีวมิติ 19.20 ปอนด์ (ประมาณ 860 บาท) เมื่อได้รับสัญชาติแล้วก็จะต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนสวามิภักดิ์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และภักดีต่อสหราชอาณาจักร
กระบวนการขอสัญชาติในประเทศอื่น ๆ โดยทั่วไปก็ไม่ต่างจากของสหราชอาณาจักรมากนัก แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน
สหรัฐอเมริกา
ในสหรัฐฯ เรียกใบอนุญาตให้พำนักอาศัยถาวรว่า "กรีนการ์ด" (Green Card) ทางการสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะสมัครขอสัญชาติอเมริกันต้องถือกรีนการ์ดมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี โดยในช่วงที่สมัครขอสัญชาติ กรีนการ์ดต้องมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน ไม่เช่นนั้นต้องต่ออายุกรีนการ์ดก่อนสมัคร
ส่วนเงื่อนไขประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ผู้สมัครต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีศีลธรรมอันดี ยึดมั่นในหลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ต้องกรอกแบบฟอร์ม N-400 เพื่อสมัครขอสัญชาติ โดยจะต้องผ่านการทดสอบความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Civic Test ซึ่งเป็นการสอบปากเปล่า เจ้าหน้าที่จะเลือกคำถาม 20 ข้อจากทั้งหมด 128 ข้อ มาถามผู้สมัคร ต้องตอบถูก 12 ข้อ จึงจะผ่านการทดสอบ นอกจากนี้ยังต้องมีการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ และต้องสอบสัมภาษณ์ด้วย
ผู้ที่สมัครขอสัญชาติอเมริกันต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนภักดีต่อสหรัฐอเมริกาด้วย
ในการขอกรีนการ์ดกรณีเป็นชาวต่างชาติที่ไปทำงานในสหรัฐฯ สามารถเดินเรื่องขอได้เลยตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้าไปในสหรัฐฯ ต่างจากกรณีของสหราชอาณาจักรที่ต้องอยู่อาศัยโดยวีซ่าทำงานทั่วไปก่อน เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขจึงสมัครของอนุญาตอาศัยอยู่อย่างถาวรได้ กรีนการ์ดของสหรัฐฯ โดยทั่วไป มีอายุ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้
แคนาดา
อีก 1 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ได้ชื่อว่าเปิดกว้างมากที่สุดประเทศหนึ่ง เปิดรับผู้อพยพจากหลายชาติสม่ำเสมอ แต่ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ไม่ถึง 10,000 คน (ข้อมูลปี 2563 ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ) ทางการกำหนดเงื่อนไขการจะขอสัญชาติแคนาดาไว้ว่า ผู้สมัครต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องเป็นผู้พักอาศัยถาวรของแคนาดา ต้องอยู่ในแคนาดาอย่างน้อย 1,095 วันในช่วง 5 ปีก่อนการสมัคร ต้องยื่นภาษีเงินได้อย่างน้อย 3 ปีในช่วงเวลา 5 ปี ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเพียงพอ (ถ้าผู้สมัครมีอายุระหว่าง 18-54 ปี)
นอกจากนี้ในระหว่างที่มีสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบถ้วน ไม่อยู่ระหว่างได้รับคำสั่งให้ออกนอกประเทศ และไม่ถูกห้ามใด ๆ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงและอาญา
โดยหลังจากสมัครแล้ว จะมีการประเมินว่า คุณมีความรู้เกี่ยวกับแคนาดา ความรับผิดชอบและสิทธิต่าง ๆ ในฐานะพลเมืองแคนาดาหรือไม่ โดยการเข้ารับการทดสอบ ตอบคำถามแบบปรนัย 20 ข้อ ภายในเวลา 30 นาที ต้องตอบถูก 15 ข้อ จึงจะผ่านการทดสอบ จากนั้นจึงเข้าสอบสัมภาษณ์ต่อ
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติการสมัครขออยู่อาศัยถาวรในแคนาดาได้ด้วยการตอบแบบสอบถามทางเว็บไซต์ของทางการแคนาดา
ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากกว่า 100,000 คน ผู้ที่ต้องการขอสัญชาติออสเตรเลีย ต้องอาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยวีซ่าที่ถูกต้องเป็นเวลา 4 ปี และต้องเป็นผู้อาศัยอยู่ถาวรในออสเตรเลียนาน 12 เดือน โดยในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ออกนอกประเทศออสเตรเลียไม่เกิน 12 เดือน และในช่วง 12 เดือนล่าสุด ต้องออกนอกประเทศรวมไม่เกิน 90 วัน
ผู้สมัครต้องมีศีลธรรมอันดี ซึ่งจะมีการประเมินจากหลายอย่าง รวมถึงความยึดมั่นและเชื่อฟังกฎหมายออสเตรเลีย มีคุณสมบัติตามคำมั่นสัญญาในการปฏิญาณตนเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ไม่มีประวัติความผิดอาญา การเกี่ยวข้องกับคนที่มีความน่ากังวล หรือเคยถูกรายงานแจ้งเหตุรุนแรงภายในครอบครัว
ในการทดสอบการเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ผู้สมัครต้องแสดงให้เห็นว่ามีความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ มีความเข้าใจถึงการเป็นพลเมืองออสเตรเลีย มีความรู้เกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย ความรับผิดชอบและสิทธิของพลเมือง เข้าใจถึงการยึดมั่นในค่านิยมออสเตรเลียที่อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ การเคารพ และความเท่าเทียม
ผู้สมัครต้องทำคะแนนได้ 75% ขึ้นไป และต้องตอบคำถาม 5 ข้อเกี่ยวกับค่านิยมออสเตรเลียได้อย่างถูกต้อง จึงจะผ่านการทดสอบ
ผู้สมัครต้องตั้งใจที่จะอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย หรือรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับออสเตรเลียขณะที่อยู่ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาจากหลายด้านรวมถึง การมีลูกที่ถือสัญชาติออสเตรเลีย มีคนรักเป็นคนสัญชาติออสเตรเลียและระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน มีครอบครัวขยายในออสเตรเลีย ระยะเวลาที่อยู่ในออสเตรเลีย บัญชีธนาคารในออสเตรเลีย มีงานทำ จ่ายภาษีเงินได้ และมีบ้านในออสเตรเลีย
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทยของทางการออสเตรเลีย
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นให้ความเคร่งครัดกับการคือสัญชาติ กำหนดให้พลเมืองถือเพียงสัญชาติเดียวเท่านั้น เว้นแต่ได้รับการยกเว้น ต่างจากในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งที่อนุญาตให้พลเมืองถือหลายสัญชาติได้
กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของญี่ปุ่น มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า กระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นไม่ควรอนุมัติให้สัญชาติแก่คนต่างด้าว เว้นแต่เขาหรือเธอปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้ทุกข้อ
- อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี ติดต่อกัน
- มีอายุอย่างต่ำ 20 ปี และบรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายของประเทศบ้านเกิดตัวเอง
- ยึดมั่นในความประพฤติดี
- สามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองได้
- ไม่มีสัญชาติ หรือเมื่อได้สัญชาติญี่ปุ่นแล้ว จะส่งผลให้ต้องเสียสัญชาติต่างชาติไป
- ไม่เคยวางแผนหรือส่งเสริม หรือเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองหรือองค์กรอื่นใด ที่วางแผนหรือส่งเสริมโค่นล้มรัฐธรรมนูญหรือรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น นับตั้งแต่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น
แต่กฎหมายญี่ปุ่นบัญญัติไว้ด้วยว่า หากคนต่างด้าวไม่สามารถสละสัญชาติปัจจุบันของตัวเองได้ ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ กระทรวงยุติธรรมอาจพิจารณาให้สัญชาติญี่ปุ่นได้ แม้ว่าคนต่างด้าวนั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อที่ 5 ข้างต้น หากทางกระทรวงพบว่า มีสภาพแวดล้อมที่เป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวกับคนสัญชาติญี่ปุ่น หรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
เยอรมนี
เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทยและสังคมของเยอรมนี ระบุว่า บุคคลที่มีสิทธิ์ในการขอสัญชาติเยอรมัน ต้องอาศัยอยู่ในเยอรมนีอย่างถูกกฎหมายอย่างน้อย 8 ปี และถือใบอนุญาตการพำนักอาศัยอย่างถูกต้อง สำหรับชาวต่างชาติที่ผ่านหลักสูตรบูรณาการแล้วสามารถขอสัญชาติได้หลังจากอาศัยอยู่ในเยอรมนีนาน 7 ปี บุคคลที่ต้องการเป็นพลเมืองเยอรมนีต้องปฏิญาณตนภักดีต่อรัฐธรรมนูญของเยอรมนี
ผู้สมัครของสัญชาติต้องคุ้นเคยกับระบบกฎหมาย สังคม และสภาพความเป็นอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยต้องผ่านการทดสอบการขอสัญชาติ ซึ่งผู้สอบต้องตอบคำถามแบบมีตัวเลือก 33 ข้อ ในจำนวนนี้ 3 ข้อจะเป็นคำถามเกี่ยวกับรัฐที่ผู้สมัครอาศัยอยู่ โดยต้องตอบถูก 17 ข้อจึงจะผ่าน
ผู้สมัครต้องสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสังคม นอกจากจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และต้องไม่เคยกระทำความผิดอาญารุนแรง นอกจากนี้ต้องสละสัญชาติก่อนหน้านี้ด้วย แต่ในบางกรณี หรือในกลุ่มคนบางกลุ่ม อาจจะพิจารณาให้ถือหลายสัญชาติได้
ทางกระทรวงมหาดไทยเยอรมนีระบุว่า การรู้ภาษาเยอรมันเป็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีในลำดับแรก ๆ เพื่อที่จะได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเยอรมนีได้ โดยผู้สมัครต้องพูดและเขียนภาษาเยอรมันได้ในระดับเทียบเท่ากับ B1 ตามกรอบการอ้างอิงด้านภาษาของยุโรป
ค่าธรรมเนียมในการขอสัญชาติเยอรมนีโดยปกติจะอยู่ที่ 255 ยูโร (ประมาณ 9,600 บาท) แต่อาจจะมีการลดหย่อนหรือยกเว้นให้ทั้งหมดในบางกรณี
ประเทศไหนขอสัญชาติยากที่สุด
การขอสัญชาติเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลานานอยู่แล้ว แต่ในบางประเทศกระบวนการนี้มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านตรวจคนเข้าเมืองในเมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ ระบุว่า ประเทศที่ขอสัญชาติยากที่สุดในโลกมีหลายแห่งรวมถึง สำนักวาติกัน, ลิกเตนสไตน์, ภูฏาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, สวิตเซอร์แลนด์, จีน และเกาหลีเหนือ เว็บไซต์นี้ระบุว่า
- การขอสัญชาติเกาหลีเหนือ บุคคลที่มีคุณสมบัติจะต้องยื่นคำร้องไปยังสภาประชาชนสูงสุด เพื่อให้ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือตัดสินใจ
- สำนักวาติกัน มีประชากรอยู่ราว 800 คน ในจำนวนนี้ถือสัญชาติวาติกันอยู่กว่า 450 คนเท่านั้น การให้สัญชาติวาติกันไม่ได้พิจารณาจากการเกิดหรือการสมรส แต่พิจารณาจากบทบาทของบุคคลที่ทำงานที่นั่น
- การขอสัญชาติลิกเตนสไตน์ คุณต้องอาศัยอยู่ในประเทศอย่างน้อย 30 ปี แต่จำนวนปีที่คุณอยู่ในประเทศนั้นขณะอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้นับแต่ละปีเป็น 2 ปี
- กาตาร์ ผู้มีคุณสมบัติจะอาศัยอยู่อย่างถาวรในกาตาร์ด้วยการขอสัญชาตินั้น จะต้องอาศัยอยู่ในกาตาร์มาแล้วอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกันถ้าเกิดนอกกาตาร์ หรือ 10 ปี ถ้าเกิดในกาตาร์ นอกจากนี้ผู้สมัครต้องใช้ภาษาอารบิกอย่างคล่องแคล่ว มีศีลธรรมอันดี สามารถช่วยเหลือตัวเองด้านการเงินได้ในช่วงที่อาศัยอยู่ในกาตาร์ โดยรัฐบาลกาตาร์กำหนดจำนวนการอนุญาตให้คนเข้ามาอาศัยอยู่ถาวรไว้ที่สูงสุด 100 คนต่อปีเท่านั้น
10 ประเทศที่คนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด
จากข้อมูลของกรมการกงสุล ซึ่งรวบรวมระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 ระบุว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศรวม 1,276,546 คน โดยบีบีซีไทย ได้รวบรวมตัวเลขที่ทางกรมการกงสุลเผยแพร่พบว่า 10 ประเทศแรกที่คนไทยอาศัยอยู่มากที่สุดคือ
- สหรัฐฯ 488,000 คน
- จีน (รวมฮ่องกงและไต้หวัน) 109,333 คน
- ออสเตรเลีย 100,856 คน
- ญี่ปุ่น 86,666 คน
- สวีเดน 74,101 คน
- เยอรมนี 59,130 คน
- สหราชอาณาจักร 41,341 คน
- เกาหลีใต้ 32,861 คน
- นอร์เวย์ 31,387 คน
- อิสราเอล 26,641 คน
ที่มา :: https://www.bbc.com/thai/international-60162480
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น