British Citizenship

รับปรึกษา การขอPassport UK การต่อ Passport UK และการทำ CV สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 🙏🙏🙏 Line ID :: pla-prapasara

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิธีการขอวีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa)

 

วิธีการขอวีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa) 


รู้จักกับวีซ่าเชงเก้น

วีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa) ถือกำเนิดมาจากข้อตกลงระหว่างประเทศในทวีปยุโรปที่อนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกสามารถเดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้เดินทางเป็นการชั่วคราวให้กับผู้ที่ถือวีซ่าเชงเก้นด้วย โดยปัจจุบันประเทศที่อยู่ในข้อตกลงเชงเก้นนั้นมี 26 ประเทศ ซึ่งมีทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก แต่สิ่งสำคัญที่ควรทราบอย่างหนึ่งคือ วีซ่าเชงเก้นไม่สามารถใช้เข้าประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักร ซึ่งได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์ได้

  • ออสเตรีย (Austria)
  • เบลเยี่ยม (Belgium)
  • เช็ก (Czech)
  • เดนมาร์ก (Denmark)
  • เอสโตเนีย (Estonia)
  • ฟินแลนด์ (Finland)
  • ฝรั่งเศส (France)
  • เยอรมนี (Germany)
  • กรีซ (Greece)
  • ฮังการี (Hungary)
  • ไอซ์แลนด์ (Iceland)
  • อิตาลี (Italy)
  • ลัตเวีย (Latvia)

  • ลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein)
  • ลิทัวเนีย (Lithuania)
  • ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg)
  • มอลตา (Malta)
  • เนเธอร์แลนด์ (Netherlands)
  • นอร์เวย์ (Norway)
  • โปแลนด์ (Poland)
  • โปรตุเกส (Portugal)
  • สโลวาเกีย (Slovakia)
  • สโลวีเนีย (Slovenia)
  • สเปน (Spain)
  • สวีเดน (Sweden)
  • สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

นอกจากนี้วีซ่าเชงเก้งยังสามารถใช้เข้าประเทศที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงได้อีกอาทิ โมนาโค (Monaco) ซานมารีโน (San Marino) และวาติกัน (Vatican) และยังมีอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจอย่าง โครเอเชีย (Croatia) ที่อนุญาตให้ผู้ถือเชงเก้นวีซ่าแบบ Double Entry หรือ Multiple Entry ที่ยังไม่หมดอายุ ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เช่นกัน

วีซ่าเชงเก้นแบบพำนักระยะสั้น

วีซ่าเชงเก้นนั้นมีหลายประเภท ทั้งวีซ่าแวะเปลี่ยนเครื่อง (ประเภท A) วีซ่าทางผ่าน (ประเภท B) วีซ่าแบบพำนักระยะสั้น (ประเภท C) และวีซ่าที่เข้าได้เฉพาะประเทศ (ประเภท D) ทั้งนี้การท่องเที่ยวยุโรปนั้นคุณจะต้องทำวีซ่าแบบพำนักระยะสั้น (ประเภท C) เป็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ระยะเวลาพำนักในประเทศกลุ่มเชงเก้นรวมไม่เกิน 90 วัน ภายในช่วงเวลา 180 วันนับตั้งแต่เดินทางถึงกลุ่มประเทศเชงเก้น (หากเป็นวีซ่าแบบ Multiple Entry ก็หมายความว่าทุก ๆ 6 เดือน คุณจะอยู่ในยุโรปได้นานสูงสุด 3 เดือนเท่านั้น)
  • จำนวนวันที่ได้รับในวีซ่ามีหลักๆ 3 แบบ คือ Single Entry (ใช้ได้ครั้งเดียว) หรือ Double Entry (ใช้ได้ 2 ครั้ง) หรือ Multiple Entry (ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตามอายุของวีซ่า) ซึ่งจำนวนวันที่จะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถานทูต แต่ในกรณีที่คุณต้องการแบบ Multiple Entry สามารถยื่นเหตุผลการขอเพิ่มได้
  • อายุของวีซ่าเชงเก้นนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถานทูตเช่นกัน ซึ่งคุณอาจได้วีซ่าที่มีอายุเท่าจำนวนวันเที่ยวที่คุณยื่นขอ หรืออาจได้อายุนาน 1 ปี หรือ 4 ปีก็ได้ตามดุลพินิจของสถานทูต

วีซ่าเชงเก้นเมื่อเดินทางหลายประเทศ

  • กรณีมีประเทศหนึ่งประเทศใดในกลุ่มเชงเก้นที่คุณต้องพำนักนานกว่าประเทศอื่น ๆ คุณต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าเชงเก้นที่ประเทศนั้น อาทิเช่นเที่ยวเยอรมนี 4 วัน สวิตเซอร์แลนด์ 4 วัน แล้วปิดท้ายด้วยฝรั่งเศส 5 วัน ต้องยื่นขอวีซ่าเชงเก้นที่สถานทูตฝรั่งเศส
  • กรณีคุณพำนักอยู่ในทุกประเทศในกลุ่มเชงเก้นนานเท่ากัน คุณต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าเชงเก้นที่ประเทศแรกของกลุ่มเชงเก้นที่คุณเดินทางไปถึง อาทิเช่นเที่ยวเยอรมนี 5 วัน สวิตเซอร์แลนด์ 5 วัน แล้วปิดท้ายด้วยฝรั่งเศส 5 วัน ต้องยื่นขอวีซ่าเชงเก้นที่สถานทูตเยอรมนี

ขั้นตอนการขอวีซ่าเชงเก้น

ก่อนดำเนินการยื่นคำร้อง

  1. ก่อนทำการยื่นคำร้องขอวีซ่า คุณต้องมั่นใจแล้วว่า คุณเลือกประเทศที่ถูกต้องในการยื่นขอวีซ่าเชงเก้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีวิธีและช่องทางการยื่นขอวีซ่าที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย และการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นผิดประเทศตามที่เราอธิบายไว้ข้างต้น สถานทูตก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการออกวีซ่าให้คุณได้
  2. เมื่อได้ประเทศที่ต้องยื่นขอวีซ่าเชงเก้นแล้ว ก็ได้เวลาหาข้อมูลว่าประเทศที่คุณต้องขอวีซ่าเชงเก้นนั้น เขาใช้วิธีการใดในการยื่นขอวีซ่า ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละประเทศจะมีช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการให้บริการดังนี้
    • ยื่นคำร้องขอวีซ่าเชงเก้นผ่านสถานทูตโดยตรง
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า VFS Global
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า TLS Contact
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า BLS International
  3. การขอวีซ่าเชงเก้นทุกประเทศจะต้องมีการทำประกันภัยการเดินทางที่มีวงเงินประกันไม่น้อยกว่า 30,000 ยูโรหรือ 1,500,000 บาท และแต่ละประเทศยังมีการกำหนดบริษัทประกันภัยที่ได้รับการยอมรับด้วย ซึ่งคุณจำเป็นต้องตรวจสอบรายชื่อและใช้บริการกับบริษัทประกันภัยที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น
  4. วีซ่าเชงเก้นสามารถยื่นคำร้องขอล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนการเดินทาง
  5. แต่ละช่องทางการยื่นคำร้องขอวีซ่าจะมีขั้นตอนอธิบายบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ คุณสามารถศึกษารายละเอียดทั้งหมดได้ด้วยตนเอง และโดยส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันคือ จองคิว > กรอกเอกสารและจัดเตรียมหลักฐาน > ยื่นเอกสารและเก็บข้อมูลชีวภาพ > เรียกสัมภาษณ์ (ถ้ามี) > รอฟังผลการพิจารณา > รับหนังสือเดินทางคืนพร้อมผลการขอวีซ่า

เมื่อดำเนินการยื่นคำร้อง

  1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม Schengen Visa Application หรือกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) โดยคุณจำเป็นต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
  2. จองคิวนัดหมายกับสถานทูต (ถ้ามี) หรือศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าทั้ง 3 บริษัท ซึ่งตัวแทนทั้งหมดจะใช้วิธีการจองคิวนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ตามเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว โดยศูนย์รับคำร้องข้อวีซ่าจะมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมที่คุณสามารถเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอาทิเช่น
    • บริการจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์
    • บริการแจ้งผลการขอวีซ่าผ่าน SMS
    • บริการถ่ายรูป / ถ่ายเอกสาร
  3. เตรียมตัวเดินทางไปศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าหรือสถานทูตด้วยตนเอง และไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปแทนได้ โดยคุณต้องถึงก่อนเวลานัดหมายอย่างน้อย 15 นาทีพร้อมเอกสารทั้งหมดที่จำเป็นทั้งฉบับจริงและสำเนา และหนังสือเดินทางที่ต้องมีหน้าว่างอย่างน้อย 2 หน้า และมีอายุคงเหลือมากกว่า 3 เดือนนับจากวันที่เดินทางออกจากเขตประเทศเชงเก้น
  4. ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าหรือสถานทูตจะเก็บข้อมูลทางชีวภาพของคุณได้แก่ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว และถ่ายภาพเต็มหน้าของคุณตามข้อกำหนดของวีซ่าเชงเก้น โดยต้องเป็นภาพหน้าตรง พื้นหลังขาว ไม่มีแสงเงา ไม่สวมอุปกรณ์คลุมศีรษะแต่เหตุผลทางศาสนาหรือทางการแพทย์ (สวมใส่แว่นสายตาได้)
  5. สำหรับการยื่นคำร้องขอวีซ่าเชงเก้นนั้นอาจมีการเรียกสัมภาษณ์คุณด้วย แต่โดยส่วนใหญ่การยื่นคำร้องกับศูนย์รับคำร้องขอวีซ่านั้นจะไม่มีการสัมภาษณ์ ทั้งนี้สถานทูตอาจจะเรียกสัมภาษณ์คุณในระหว่างการพิจารณา ดังนั้นเตรียมตัวไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
  6. ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าหรือสถานทูตรับเอกสารและเก็บข้อมูลชีวภาพเสร็จสิ้น (รวมทั้งการเรียกสัมภาษณ์) การยื่นขอวีซ่าเชงเก้นก็เป็นอันเรียบร้อย โดยปกติแล้วคุณจะทราบผลภายใน 15 วันทำการนับตั้งแต่วันยื่นเอกสาร และคุณสามารถรับเอกสารและหนังสือเดินทางคืนหลังรับทราบผลแล้วได้ที่ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า หรือบริการจัดส่งทางไปรษณีย์ (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

เอกสารการขอวีซ่าเชงเก้น

หลักฐานสำคัญ

  1. เอกสารคำร้องขอ – เอกสารที่คุณต้องพิมพ์หรือกรอกเรียบร้อยแล้ว
  2. หนังสือเดินทาง – ต้องเป็นหนังสือเดินทางฉบับล่าสุด มีอายุคงเหลือมากกว่า 3 เดือนนับจากวันที่เดินทางออกจากเขตประเทศเชงเก้น และมีหน้าว่างอย่างน้อย 2 หน้า กรณีที่มีหนังสือเดินทางเล่มก่อนหน้าให้นำไปด้วยทั้งหมด และถ่ายสำเนาหน้าแรกพร้อมกับหน้าที่เคยได้วีซ่า/เดินทางไปประเทศอื่นด้วย
  3. สำเนาเอกสารแสดงตัว – ได้แก่สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาอื่น ๆ ถ้ามี อาทิเช่น สำเนาทะเบียนสมรส สำเนาทะเบียนหย่า สำเนาใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล เป็นต้น (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
  4. รูปถ่ายหน้าตรง  ต้องใช้รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ โดยไม่ยิ้ม และไม่มีเส้นผมหรืออุปกรณ์ใด ๆ บดบังใบหน้าและดวงตา (ยกเว้นแว่นสายตา) โดยต้องเป็นรูปที่ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้เราขอแนะนำให้คุณตรวจสอบเงื่อนไขการถ่ายภาพโดยละเอียด เนื่องจากบางประเทศมีกฎระเบียบที่เข้มงวดกว่าปกติ
  5. ประกันการเดินทาง – เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการประกันภัยระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยต้องมีวงเงินประกันขั้นต่ำ 1,500,000 บาท (30,000 ยูโร) และต้องทำกับบริษัทประกันภัยที่สถานทูตให้การรับรองด้วย
  6. ใบยืนยันการจองตั๋วเครื่องบิน – ต้องเป็นตั๋วเครื่องบินที่เดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศสมาชิกเชงเก้น และเดินทางกลับถึงประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น
  7. ใบยืนยันการจองโรงแรมที่พัก – ต้องเป็นโรงแรมภายในประเทศสมาชิกเชงเก้น และมีการเข้าพักในช่วงเวลาท่องเที่ยวที่ระบุไว้เท่านั้น 
  8. ใบยืนยันการจองตั๋วรถไฟ/รถเช่า (ถ้ามี) – เนื่องจากต้องใช้เป็นหลักฐานยืนยันการเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปที่ใช้ระบบรถไฟเป็นหลัก หากไม่มีต้องอธิบายแผนการเดินทางเป็นลายลักษณ์อักษรได้ว่าคุณวางแผนการเดินทางอย่างไร 

หลักฐานสำคัญ กรณีมีรายได้เป็นของตนเอง

  1. เอกสารรับรองการทำงาน
    • กรณีเป็นพนักงาน: ต้องใช้หนังสือรับรองการทำงานเป็นภาษาอังกฤษ โดยต้องมีข้อมูลชื่อองค์กรที่ทำงาน ตำแหน่งงาน เงินเดือน วันเริ่มงาน และควรมีการระบุจุดหมายปลายทาง ช่วงวันเดินทาง และวันที่จะกลับถึงประเทศไทยอย่างชัดเจน พร้อมลงนามและประทับตรา
    • กรณีเป็นเจ้าของกิจการ: ต้องใช้สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน พร้อมทะเบียนการค้า หรือใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีชื่อของคุณเป็นเจ้าของกิจการ
  2. รายการเดินบัญชีเงินฝาก – สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่ปรับรายการเดินบัญชีถึงปัจจุบันถึงย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และควรมีเงินฝากที่เพียงพอต่อการแสดงให้เห็นว่าสามารถพำนักอยู่ในยุโรปได้อย่างไม่มีปัญหา (แนะนำว่าควรแสดงเงินฝากเกิน 50,000 บาทขึ้นไป) หรือขอรายการเดินบัญชีที่ได้รับตราประทับจากธนาคาร หรือขอเอกสารแสดงข้อมูลทางบัญชีที่การันตีเงินฝากของคุณเป็นภาษาอังกฤษก็ได้
  3. สลิปเงินเดือน – กรณีมีรายได้ประจำ ให้แนบสลิปย้อนหลัง 6 เดือน โดยยอดเงินสุทธิในสลิปจะต้องสอดคล้องกับรายการเดินบัญชีเงินฝากด้วย

หลักฐานสำคัญ กรณีไม่มีรายได้เป็นของตนเอง

  1. หลักฐานแสดงรายได้ของคู่สมรส – กรณีเป็นคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนกันอย่างถูกต้อง และต้องมีสำเนาเอกสารยืนยัน และถ้าคู่สมรสไม่ได้เดินทางไปด้วย ต้องมีสำเนาเอกสารแสดงตัวของคู่สมรสทั้งหมดแนบมาด้วย หรือถ้าไม่ได้จดทะเบียน ต้องมีหนังสือยืนยันการสมรสโดยไม่ได้จดทะเบียนและลงชื่อรับรองทั้ง 2 ฝ่าย
  2. หลักฐานแสดงรายได้ของญาติ – กรณีเดินทางกับญาติพี่น้องสามารถใช้ข้อมูลของญาติที่ร่วมเดินทางไปด้วยพร้อมหนังสือรับรองความเป็นญาติ หรือถ้าญาติเป็นเจ้าของกิจการหรือบุคคลที่รายได้แต่ไม่ได้เดินทางไปด้วย ก็สามารถใช้อ้างอิงแทนกันได้ ทั้งนี้ยอมรับเฉพาะญาติที่เป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี หรือภรรยาเท่านั้น
  3. สูติบัตรและทะเบียนบ้าน – กรณีผู้เดินทางเป็นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ที่ร่วมเดินทางไปด้วย โดยใช้สูติบัตรร่วมกับทะเบียนบ้านที่อ้างอิงถึงชื่อบิดามารดา
  4. จดหมายยินยอมจากผู้ปกครอง – กรณีผู้เดินทางเป็นเด็กอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ และไม่ได้เดินทางพร้อมบิดามารดาร่วมกัน ผู้ปกครองที่เป็นบิดาหรือมารดาที่ไม่ได้ร่วมไปด้วยทั้งหมดต้องลงชื่อในจดหมายยินยอมที่ออกโดยที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต
  5. เอกสารรับรองการศึกษา – กรณีเป็นนักเรียน/นักศึกษา ต้องใช้หนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่สังกัดอยู่เป็นภาษาอังกฤษ

หลักฐานอื่น ๆ

  1. แผนการเดินทาง – แสดงแผนการเดินทางในช่วงที่อยู่ในประเทศอังกฤษเพื่อให้ทราบว่าในแต่ละวันจะเดินทางไปเที่ยวเมืองอะไร สถานที่ท่องเที่ยวไหน พักที่ใดบ้าง โดยแผนทั้งหมดต้องเป็นภาษาอังกฤษ
  2. ใบปะหน้า – เขียนใบปะหน้าเอกสารโดยสรุปของการยื่นขอวีซ่าเชงเก้น อาทิเช่นวันเวลาเดินทาง สถานที่ที่ต้องการเที่ยว และรายการหรืออธิบายสั้น ๆ ถึงเอกสารที่รวบรวมมาเพื่อประกอบการพิจารณา
  3. สัญญาเช่า/สัญญากู้บ้าน/ผ่อนรถ – เป็นเอกสารประกอบเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ที่มีภาระผูกพันกับฐานที่อยู่ในประเทศไทย ให้ทางสถานทูตมั่นใจได้ว่าคุณจะกลับมาอย่างแน่นอน


ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเชงเก้น

สำหรับค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเชงเก้นในประเภทพำนักระยะสั้นนั้น ทุกประเทศคิดค่าธรรมเนียมเท่ากันคือ 60 ยูโร แต่ทั้งนี้ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าจะเรียกเก็บเป็นเงินบาทไทยซึ่งต้องชำระในวันนัดยื่นคำร้อง โดยอาจเรียกเก็บไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับค่าเงิน และมีค่าธรรมเนียมดำเนินการของศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าแยกต่างหากด้วย ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรวมจะอยู่ที่ 2,500 – 3,500 บาทโดยประมาณ


สถานที่ยื่นขอวีซ่าเชงเก้น

สำหรับการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องทราบว่าประเทศที่คุณจะขอยื่นนั้น ต้องยื่นวีซ่าผ่านช่องทางใด ต้องติดต่อสถานทูตโดยตรง (ซึ่งโดยปกติจะมีเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ) หรือติดต่อศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า ตามรายละเอียดด้านล่างนี้


ติดต่อศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า VFS Global
อาคารเดอะ เทรนดี้ ชั้น 28 ซอยสุขุมวิท 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08.30 – 16.30 น.

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า TLS Contact
สาทรซิตี้ทาวเวอร์ ชั้นที่ 12 ถนนสาทรใต้ 175 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพ 10120
เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08:00 – 16:30 น. (พักทำการเวลา 12:30 – 13:30 น.)

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า BLS International
อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 ชั้น 22 ห้องเลขที่ 2211 เลขที่ 399 ถนนสุขุมวิท (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08:30 – 16:00 น. (พักทำการเวลา 12:00 – 13:00 น.)


ช่องทางการติดต่อผ่านระบบออนไลน์

ประเทศที่ต้องยื่นผ่านสถานทูตโดยตรง

ประเทศที่ต้องยื่นผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า (VFS)

ประเทศที่ต้องยื่นผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า (TLS)

ประเทศที่ต้องยื่นผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า (BLS)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การทำ SEO คืออะไร

  การทำ SEO คืออะไร การทำ SEO คืออะไร เรียนรู้เทคนิคง่ายๆ ทำด้วยตัวเอง ไม่ต้องเสียตังค์ "SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับการค้นห...